Skip to main content

ปัญหาสายตาที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย

ปัญหาสายตาที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายของเราย่อมมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน รวมถึงดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงของดวงตาเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ดังนี้

 

1. สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์ตาจะสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้ความสามารถในการโฟกัสวัตถุใกล้ลดลง ส่งผลให้การอ่านหนังสือหรือมองสิ่งของใกล้ๆ ไม่ชัดเจน ปัญหานี้มักเริ่มปรากฏตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นสายตา แว่นตาที่สามารถแก้ไขปัญหาสายตายาวตามอายุมีหลายประเภท ลูกค้าควรตรวจวัดสายตากับนักทัศนมาตร เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้องแม่นยำ และเลือกใช้งานแว่นตาแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับการทำงานและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

 

2. การเปลี่ยนแปลงของกระจกตา

กระจกตาอาจมีความโค้งเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การหักเหของแสงผิดปกติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาได้

ความเสื่อมของกระจกตาจากอายุที่มากขึ้น

  • กระจกตาเสื่อมจากการสูญเสียเซลล์ เซลล์กระจกตาชั้นในสุดจะมีปริมาณลดลง อาจทำให้กระจกตาบวมและทำให้การมองเห็นแย่ลง
  • กระจกตาเสื่อมจากการสะสมแคลเซียมและไขมัน ทำให้เกิดแถบสีขาวขุ่นที่กระจกตา ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง

 

3. ปัญหาที่จอประสาทตา

3.1จอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age-related Macular Degeneration) คือโรคที่เกิดจากจอประสาทตาในลูกตาเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถรับภาพได้ดีเท่าเดิม โรคจอประสาทตาเสื่อมจะทำให้การมองเห็นแย่ลงเรื่อยๆ มองภาพบิดเบี้ยว มองเห็นสีได้น้อยลง การมองเห็นช่วงกลางภาพหายไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปในที่สุด
จอประสาทตาเสื่อมมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมาจากความเสื่อมของอวัยวะตามอายุ 

3.2เบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) มักเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดเล็กที่นำเลือดมาเลี้ยงที่จอประสาทตา และทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆตามมา ได้แก่ การพองหรือโป่งออกของเส้นเลือดขนาดเล็ก (microaneurysm) จุดเลือดออกในชั้นจอประสาทตา (intraretinal hemorrhage) การรั่วของน้ำและสารประเภทไขมันในชั้นจอประสาทตา (exudate) จอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพชัดบวม (macular edema) หรือขาดเลือด (macular ischemia) และหากมีความผิดปกติรุนแรงมากขึ้นอาจทำให้เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ (neovascularization) ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่ผิดปกติ สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่ เลือดออกในวุ้นตา (vitreous hemorrhage) พังผืดที่จอประสาทตา จอประสาทตาหลุดลอก (tractional retinal detachment) และต้อหิน (glaucoma) ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่แย่ลงมาก และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

 

4. ภาวะตาแห้ง (Dry Eye)

เป็นอาการที่เกิดจากระบบต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา หรือน้ำตาที่ผลิตออกมาไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความชุ่มชื้นนั้นมีส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ และมีโอกาสทำให้เกิดการอักเสบที่กระจกตา เยื่อบุตา และเปลือกตา ซึ่งอาจรุนแรงจนดึงให้ขนตาทิ่มตา และเมื่อเกิดการระคายเคืองจนกระจกตาเป็นแผล กระจกตาถลอกได้ 

 

5. การมองเห็นในที่มืดลดลง

ม่านตาและรูม่านตาของผู้สูงอายุจะตอบสนองต่อแสงน้อยลง ทำให้การมองเห็นในที่มืดแย่ลง ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในสภาพแสงน้อย

 

จะเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาสายตาในวัยสูงอายุมักจะเกิดจากความเสื่อมและโรคประจำตัวเป็นหลัก ดังนั้นการดูแล ป้องกันและรักษาปัญหาสายตาที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองคือการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

 

#เพราะร้านแว่นไม่ใช่ที่ไหนก็ได้

#TheLensเน้นคุณภาพเสมอ