ลูกค้าเพศชายอายุ 40 ปี มาด้วยปัญหาการมองเห็นภาพซ้อนไขว้กันในแนวเฉียง เมื่อซักประวัติโดยละเอียดพบว่าลูกค้าเคยมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเกิดภาพซ้อนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อีกทั้งลูกค้ายังไม่มีโรคตา ไม่มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับการกระแทกใดๆ ที่ดวงตาจากอุบัติเหตุครั้งนั้น จึงคาดว่าอาการภาพซ้อนนี้เกิดขึ้นจากการแรงกระแทกที่ระบบประสาท เนื่องจากสมองและดวงตามีเส้นประสาทมากมายที่เชื่อมต่อกัน การกระทบที่ศีรษะจึงมีโอกาสส่งผลกระทบต่อการมองเห็นได้เช่นกัน
ทางร้านจึงได้ทำการตรวจสายตาอย่างละเอียดโดยนักทัศนมาตร
R: plano
L: plano -0.50x180
Add 1.00
พบว่าลูกค้ามีค่าสายตาเอียงเล็กน้อยและค่าสายตายาวตามอายุ เมื่อแก้ไขค่าสายตาแล้วสามารถมองเห็นได้อย่างคมชัดทั้งไกลและใกล้ หากแต่ภาพซ้อนแนวเฉียงยังคงไขว้กันเช่นเดิม
นักทัศนมาตรจึงทำการตรวจทิศทางแนวการมองของตาแต่ละข้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนพิเศษเฉพาะทาง ได้แก่ Cover test, Worth's 4 dots และ Maddox rod พบว่าทิศทางแนวการมองของตาทั้งสองข้างอยู่ในแนวที่ตรงข้ามกัน ทำให้เกิดภาพซ้อนแบบไขว้กันตามมา
พบค่าทิศทางแนวการมองที่เบนไปทั้งหมด 2 แนว ได้แก่ 1.5△BO(แนวนอน) และ 0.5△BU(แนวตั้ง) เมื่อรวมทิศทางปริซึมกันแล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาภาพซ้อนในแนวเฉียงได้
สิ่งที่ช่วยปรับทิศทางแนวการมองคือ ปริซึม (Prism)
ซึ่งปริซึมทำหน้าที่เบี่ยงเบนทิศแสง ปรับให้แสงทั้งสองแนวกลับมาอยู่ในแนวเดียวกันหรือขนานกัน ภาพจากตาทั้งสองจึงอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน และภาพทั้งสองจึงรวมเป็นภาพเดียว อาการภาพซ้อนจึงถูกแก้ไขในที่สุด
ทางร้านจึงวางแผนการรักษาโดยใส่ค่าปริซึมลงไปพร้อมค่าสายตา จึงได้การมองเห็นที่ทั้งคมชัดและเป็นภาพเดียว และแนะนำเลนส์สองชั้นที่แก้ค่าสายตาได้ทั้งระยะไกลและใกล้ได้ภายในเลนส์เดียว อีกทั้งยังแก้ปัญหาภาพซ้อนได้ทุกระยะและตลอดเวลาที่ใส่แว่น
รวมทั้งมีการติดตามอาการในอีก 3 เดือนหลังจากการแก้ไขครั้งแรก คาดหวังว่าภาพจะรวมเป็นภาพเดียวเช่นนี้ และแนะนำให้ลูกค้ามาตรวจเช็คสายตาทุกๆ 1 ปีเพื่อดูแนวโน้มของผลการรักษา
The Lens ตรวจวัดค่าสายตาอย่างละเอียดโดยนักทัศนมาตรปริญญา 6 ปี วิชาชีพที่เชี่ยวชาญในด้านการแก้ไขปัญหาสายตาผ่านทางเลนส์เฉพาะทาง คอนแทคเลนส์ และเลนส์ปริซึมมากที่สุด